ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย
วิทยาลัยการอาชีพเชียงรายมีสถานภาพที่ได้พัฒนาสืบต่อกันมาหลายขั้นตอนโดยเริ่มต้นจากการเป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพเชียงรายตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติระยะที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งศูนย์ฝึกวิชาชีพเชียงราย สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพเชียงราย วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เปิดสอนวิชาชีพให้กับนักเรียนโรงเรียนมัธยมของกรมสามัญศึกษา
ในขณะเดียวกันก็เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชนด้วย มีประเภทวิชาต่างๆ ดังนี้ คือ ช่างอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คหกรรม และเกษตรกรรม ภายหลังจากการเป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพเชียงรายได้ ๑๒ ปี ก็ได้รับการยอกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยการอาชีพเชียงราย เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยเป็นผู้บริหารสูงสุด และมีการจัดการศึกษาตามหลักสูตรที่เปิดสอนดังนี้ คือ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ขยายโอกาสทางการศึกษา) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรวิชาชีพเบื้องต้น หลักสูตรอบรมตามโครงการต่างๆ (โครงการพิเศษ)
วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย ได้รับความร่วมมือจากชุมชนในท้องถิ่นที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจึงได้มอบพื้นที่จำนวน ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๒๗ วา ให้กับกรมอาชีวศึกษา ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๒ ดังมีรายนามผู้บริจาค ดังต่อไปนี้
๑. นายมูล หม่อมพกุล จำนวน ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๗๕ วา
๒. นายมูล หม่อมพกุล จำนวน ๔ ไร่ ๓ งาน ๕๓ วา
๓. นายยืน วงศ์สารภี จำนวน ๑ ไร่ ๑ งาน ๖๐ วา
๔. นางวราภรณ์ ริวงค์ษา จำนวน ๐ ไร่ ๓ งาน ๓๖ วา
๕. นางกรองทอง วงศ์สารภี จำนวน ๒ ไร่ ๒ งาน ๓ วา
๖. นายสมโบสถ์ แก้วมณี จำนวน ๒ ไร่ ๐ งาน ๐ วา
เพื่อจัดตั้งอาคารเรียน และในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๑ สถานศึกษาได้รับมอบที่ดินเพิ่มเติม โดยความเห็นชอบจากสภาตำบลท่าสาย และประชาชนในท้องถิ่น โดยมอบพื้นที่อีก ๒ ไร่ ๑ งาน ๙๒ วา จากนายมูล หม่อมพกุล ให้ทางวิทยาลัยฯ รวมเป็นพื้นที่ปัจจุบัน 25 ไร่ 3 งาน 19 ตารางวา